วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

เงินเดือน ค่าแรงขั้นต่ำ ประเทศมาเลเซีย

เงินเดือน ค่าแรงขั้นต่ำ




               ดาโต๊ะ ซรี นาจิบ ตน ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้ประกาศกำหนดค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงานภาคเอกชนเป็นครั้งแรก โดยแรงงานในคาบสมุทรมาเลเซียจะได้ 900 ริงกิตต่อเดือน หรือ 4.33 ริงกิตต่อชั่วโมง ส่วนแรงงานในรัฐซาราวัก รัฐซาบาฮ์ และลาบวน จะได้ 800 ริงกิต ต่อเดือน หรือ 3.85 ริงกิตต่อชั่วโมง โดยจะมีผลบังคับใช้ใน 6 เดือน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกเว้นบริษัทที่มีขนาดเล็ก ได้แก่ บริษัทที่มียอดขายประจำปีจำนวน 250,000 ริงกิต (สำหรับภาคอุตสาหกรรม) และจำนวน 200,000 ริงกิต (สำหรับภาคการเกษตรและบริการ) และมีจำนวนลูกจ้างประจำ 5 คน รัฐบาลฯ เลื่อนผลบังคับใช้เพิ่มเป็น 12 เดือน ซึ่งนับเป็นการเตรียมการเพื่อเข้าสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2020 (พ.ศ. 2563)
                    นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวว่า รัฐบาลออกมาตรการดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของชนชั้นแรงงาน และช่วยให้มั่นใจว่าชนชั้นแรงงานจะสามารถปรับตัวเพื่อเผชิญหน้ากับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม มีการประเมินกันว่า การประกาศกำหนดค่าแรงขั้นต่ำเป็นครั้งแรกของประเทศมาเลเซียในครั้งนี้ มีเหตุผลในทางการเมืองแอบแฝง เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียกำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในมาเลเซียในช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งก่อนหน้านี้ รัฐบาลมาเลเซียก็ได้อนุมัติให้ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการประจำมาแล้ว ซึ่งมาตรการทั้งหมดได้รับการประเมินว่าเป็นการสร้างความพึงพอใจซึ่งจะมีผลต่อคะแนนนิยมของพรรครัฐบาลในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึง 
                    นอกจากนี้ ยังได้มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดแรงงานและเศรษฐกิจของมาเลเซีย ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการประกาศดังกล่าวหลากหลายมุมมอง อาทิ เช่น เลขาธิการหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศมาเลเซียมีความเห็นว่าการกำหนดอัตราค่าแรง 900 ริงกิต ครอบคลุมทุกรัฐในคาบสมุทรมาเลเซีย จะทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติกลัวที่จะเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการที่อยู่ในเขตชนบท พร้อมทั้งเสนอว่าการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำควรพิจารณาเป็นรายพื้นที่ ในขณะที่ประธานสหภาพแรงงานมาเลเซียแสดงความยินดีที่รัฐบาลมีมติใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำ หลังจากที่ได้เรียกร้องกันมานานกว่า 10 ปี พร้อมกันนี้ สหภาพฯ ประกาศว่าจะพยายามผลักดันให้มีการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงครองชีพอีกจำนวน 300 ริงกิต เพิ่มเติมให้แรงงานภาคเอกชนด้วย เพราะเชื่อว่าเมื่อมีการปรับค่าจ้าง ย่อมส่งผลต่อการปรับอัตราค่าครองชีพให้สูงขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน ทางด้านผู้อำนวยการบริหารสหพันธ์นายจ้างมาเลเซีย แสดงความเห็นว่า รัฐบาลประกาศกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำเร็วเกินไป ควรให้นายจ้างมีการปรับตัวมากกว่านี้ และให้คำแนะนำว่า การปรับขึ้นอัตราค่าแรง ควรดำเนินควบคู่กับการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่าย
                    อย่างไรก็ตาม นักวิจัยของ CIMB ให้ความเห็นว่า แม้การกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ แต่ก็จะส่งผลดีในระยะยาวต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้ลดการพึ่งพาแรงงานไร้ฝีมือ และจะมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น
                    อนึ่ง การกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้กับตำแหน่งงานทุกตำแหน่งในภาคเอกชน รวมทั้งแรงงานต่างชาติ ยกเว้นตำแหน่งแม่บ้าน 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น